ช่วงนี้เพื่อนๆ หลายท่านกำลังประสบปัญหา "เซ็บเดิร์ม" กำเริบกันอีกแล้ว เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เดี๋ยวก็ฝนตก เดี๋ยวก็ร้อนจัด บวกกับการสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา และปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย

สุดท้ายแล้ว ผิวหน้าก็เลยมีผื่นแดงขึ้น มีอาการคัน เป็นขุย เสมือนมีรังแคอยู่ที่ใบหน้า บางรายมีตุ่มหนองคล้ายสิวร่วมด้วย ซึ่งอาการเป็นๆ หายๆ เหล่านี้ ได้สร้างความกังวลใจให้กับเพื่อนๆ ไม่น้อยเลย


อย่าเพิ่งกังวลใจมากไปนะคะ ถึงแม้ "โรคเซ็บเดิร์ม" จะเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด แต่ถ้าเรารู้จักตัวโรคดีพอ เราก็สามารถควบคุมอาการได้ 

 


โรคเซ็บเดิร์ม หรือ โรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน หรือ ชื่อเต็มของโรคคือ Seborrheic Dermatitis (อ่านว่า ซี-บอร์-ริค เดอร์-มา-ไต-ติส) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่มีภาวะผิวหนังอักเสบจากต่อมไขมันในชั้นผิวหนัง พบเจอได้บ่อยมากในคนไทย
 
โรคเซ็บเดิร์มเกิดจากอะไร?


เซ็บเดิร์ม เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่ามีหลายปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะผิวหนังอักเสบนี้ เช่น

  • ผิวมัน ซึ่งมักเกิดผื่นบริเวณที่มีต่อมไขมันเยอะ เช่น บริเวณร่องแก้ม หัวคิ้ว หนังศรีษะ บริเวณอกและหลัง
  • จากยีสต์ และเชื้อราบางชนิด เช่น เชื้อ Malassezia species
  • สภาพอากาศ ส่งผลทำให้ผื่นเห่อมากชึ้น
    • อากาศเย็น ความชื้นต่ำ ผิวแห้ง
    • อากาศร้อน ต่อมไขมันบริเวณผิวหน้าจะสร้างไขมันออกมามากขึ้น
  • ระดับของฮอร์โมนที่แปรปรวน
  • ความเครียด นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • การดื่มสุรา
  • การเสียดสี เช่น จากการสวมใส่หน้ากาก หรือการแกะเกาผิวหนัง
  • ปัจจัยจากกรรมพันธุ์


ใครที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเซ็บเดิร์มบ้าง?

  • ผู้ที่มีผิวมัน
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น HIV
  • ผู้ป่วยระบบประสาท เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ ลมชัก
  • ผู้ที่มีภาวะขาดวิตามิน B2, B6, Zinc


อาการของโรคเซ็บเดิร์ม จะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง 

  • มีอาการคัน แดง ผิวหนังลอกเป็นขุย ผิวดูมัน และมีอาการคล้ายสิว
  • ผิวหนังตกสะเก็ดเป็นรังแคบนหนังศีรษะ หรือบริเวณที่มีเส้นผม คิ้ว หรือ หนวดเครา
  • ผิวมันเป็นแผ่น ปกคลุมด้วยสะเก็ดสีขาวหรือเหลือง หรือมีสะเก็ดแข็งบนหนังศีรษะ ใบหู ใบหน้า หน้าอก หรือตามร่างกายส่วนอื่น ๆ
  • เปลือกตาอักเสบ มีอาการแดงหรือมีสะเก็ดแข็งติด

 
ต้องปฏิบัติตัวเองอย่างไร เพื่อควบคุมอาการโรคเซ็บเดิร์มให้ดีที่สุด

  1. สังเกตตัวเอง และหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เราอาการกำเริบ
  2. ทำความสะอาดผิวหน้าเช็ดเครื่องสำอาง/ครีมกันแดด และล้างหน้าด้วยน้ำสะอาด
  3. ทาผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวและป้องกันผิวแห้ง
  4. หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์กลุ่ม AHA, Vit A หรือผลิตภัณฑ์ที่มีค่า pH เป็นกรดหรือด่างมากเกินไป
  5. หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หรือ ผลิตภัณฑ์ที่อาจจะทำให้ผื่นกำเริบ เช่น โทนเนอร์ และสเปรย์จัดแต่งทรงผม
  6. หลีกเลี่ยงการแกะเกาบริเวณผิว เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน (ผื่นอาจจะแปลงร่างกลายเป็นสิวได้)
  7. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้เยอะๆ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ


หากเพื่อนๆ หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้อาการเซ็บเดิร์มกำเริบแล้วแต่ก็ยังเป็น หากอยากให้อาการหายเร็วขึ้น หรือมีอาการกำเริบมาก ควรไปพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อให้แพทย์ดูแลรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับอาการ เช่น การสั่งจ่ายยาทา การสั่งจ่ายยารับประทาน หรืออาจจะต้องฉายแสง Narrow Band UVB นะคะ
 
อ้างอิงจาก:
- Rama Channel: “เซ็บเดิร์ม“ หรือโรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน โรคผิวหนังที่ต้องทำความรู้จัก
- สถาบันโรคผิวหนัง: โรค Seborrheic Dermatitis